วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แผนการจัดกิจกรรมแนะแนว

แผนการจัดการเรียนรู้ที่  1
แผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณธรรมพื้นฐานของนักเรียน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
เรื่อง      ฉันคิดว่า....
 เวลา      1      ชั่วโมง


           สาระสำคัญ    ในการใช้ชีวิตรวมกลุ่ม  แต่ละคนต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความสนใจและความต้องการของ กันและกัน บางคนอาจไม่ค่อยสนใจความต้องการของผู้อื่น ขณะที่บางคนไม่กล้าหรือไม่มั่นใจที่จะทำตามความรู้สึกหรือความต้องการของตนเอง  การฝึกแสดงความเห็นและการยืนยันความต้องการของตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้าง สัมพันธภาพกับคนรอบข้างได้ โดยยังสามารถคงความเป็นตัวของตัวเองไปพร้อมๆ  กับการรับ ฟัง และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น
                      
จุดประสงค์     1.  บอกความแตกต่างของวิธีการตอบสนองของบุคคลแต่ละแบบ
  2.  สามารถเลือกใช้คำพูดบอกความต้องการได้อย่างสุภาพและหนักแน่น
  3.  บอกวิธีพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองได้
                           4.  สาธิตการรับฟังที่แสดงถึงการเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

อุปกรณ์และสื่อ
                       1.   แผ่นกิจกรรม (มีสถานการณ์ต่างๆ 15 ตัวอย่าง ให้ตัดแผ่นกิจกรรมเป็นข้อๆ  ให้เท่าจำนวน ผู้เรียน ใส่ซองเตรียมไว้)
                       2.   ใบความรู้
                     
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1.   ผู้ดำเนินกิจกรรมชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้กิจกรรม ฉันคิดว่า....  ว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้รู้ถึงวิธีการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง สามารถทำตามความคิดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
2.   แจกซองให้ผู้เรียนหยิบกระดาษที่อยู่ในซองคนละ 1 ชิ้น แล้วให้แต่ละคนเขียนคำตอบของตัวเองว่าถ้าต้องอยู่ในเหตุการณ์เช่นนั้น
-   จะรู้สึกอย่างไร
-   จะทำอย่างไร
-   เพราะเหตุใดจึงเลือกที่จะทำเช่นนั้น
3.   ให้เวลาผู้เรียนในการตอบคำถาม 5 นาที จากนั้นให้ผู้ดำเนินกิจกรรมถามผู้เรียนว่า ในเหตุการณ์จริงๆ  คิดว่าเราจะสามารถบอกคนอื่นตามที่เราเขียนได้ทุกครั้งหรือไม่ เพราะอะไร (สุ่มถามผู้เรียน 3- 4 คน)
4.    อธิบายผู้เรียนถึงวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ว่าขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคนซึ่งอาจ   แบ่ง    ได้เป็น 3   แบบหลักๆ คือ
-  สนใจความต้องการตัวเองเป็นหลัก
-  อะไรก็ได้ตามใจคนอื่น
-  พยายามตอบสนองความต้องการทั้งของตัวเองและผู้อื่น
5.    ชวนผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า วิธีการตอบสนองแต่ละแบบมีผลต่อความรู้สึกและสัมพันธภาพของคนที่ เรามีความสัมพันธ์ด้วยอย่างไร
    6.    จากนั้น ผู้ดำเนินกิจกรรมแจกใบความรู้ และแนะนำวิธีแสดงความคิดเห็นความต้องการ ด้วยรูป ประโยค ฉันคิด  ว่า... ตามใบความรู้  (5 นาที)
7.     แบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 5-7 คน ให้แต่ละคนนำเหตุการณ์ที่ได้ในตอนแรกเล่าให้เพื่อนฟังว่า ตัวเองเขียนคำตอบว่าอะไร จากนั้นให้กลุ่มระดมความคิดว่าในเหตุการณ์เหล่านั้น ควรทำอย่างไร จึงจะเป็นการยืนยันความต้องการที่ได้ผลและขณะเดียวกันก็เคารพความต้องการและทางเลือกของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
8.    ให้ตัวแทนนำเสนอกลุ่มละ 3 นาที
9.    ชวนอภิปรายในกลุ่มใหญ่โดยใช้คำถามชวนคิด (10 นาที)

คำถามชวนคิด
      -   การไม่สามารถ (หรือไม่กล้า หรือไม่ต้องการ) บอกให้คนอื่นรู้ว่าความคิดความรู้สึกที่แท้จริงของเราคืออะไร มีผลกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเองอย่างไร
     -    เกิดอะไรขึ้นกันเราบ้างเมื่อเราเป็นฝ่ายยอมเสมอ
     -    การเลี้ยงดูในวัฒนธรรมไทยส่งเสริมให้เรามีวิธีการตอบสนองแบบใด
     -    วิธีการตอบสนองทั้ง 3 แบบนั้น แต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง
     -    คตินิยมความสัมพันธ์ของไทยบางอย่าง เช่น การเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือผู้ชายเปรียบเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ฯลฯ มีผลต่อพฤติกรรมการยืนยันความต้องการอย่างไร (ระหว่าง เด็กกับผู้อาวุโสกว่า หรือระหว่างเพื่อน/แฟน)
     -    ถ้าเราต้องการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง  อะไรคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ อะไรเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น
     -    เราจะรู้จักตัวเองได้อย่างไรว่าเรามีสไตล์แบบไหน โดยไม่คิดเข้าข้างตัวเอง

10.    ผู้ดำเนินกิจกรรมสรุปการอภิปรายและเพิ่มเติมประเด็น ดังนี้
      -   มนุษย์ต้องการสังคม  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและมีสัมพันธ์ภาพที่ทำให้เกิดความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายขึ้นอยู่กับความต้องการและความรู้สึกนึกคิดของแต่ละฝ่าย ที่ต่างมีการรับฟังและตอบสนองอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นในเรื่องการพัฒนาการสื่อสารกับผู้อื่นที่จะช่วยให้สามารถแสดงออก และยืนยันความต้องการของตัวเอง โดยที่ให้ความสำคัญกับการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
-  วัฒนธรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวมีผลกับพฤติกรรม แต่ละคนประเมินความเหมาะสมในการ แสดงออกแตกต่างกันตามพื้นฐานที่ได้รับการอบรมมา เช่น วัฒนธรรมตะวันตกให้ความสำคัญกับ ความเป็นปัจเจกบุคคล ขณะที่ทางตะวันออกถือว่าการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นความเหมาะสมของการแสดงออกในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน แต่เรื่องที่นับว่าเป็นพื้นฐานในทุกสังคมร่วมกันคือ ความเท่าเทียมกันของบุคคลในสิทธิทางร่างกาย การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
-   การไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้  จะทำให้อึดอัด โกรธและสูญเสียความมั่นใจ แต่การทำตามความ ต้องการของตัวเองเสมอ  แม้จะบรรลุความต้องการแต่ก็อาจสร้างความขุ่นเคืองหรือความไม่พอใจให้แก่ผู้อื่นด้วย
-   บุคลิก 3 แบบ ในการกล้าแสดงความคิดเห็น ความต้องการและการตอบสนองความต้องการของตัวเอง
              แบบที่ 1  ฉันจะเอาแบบนี้ ฉันไม่สนใจว่าเธออยากเลือกแบบไหน (Aggressive) ไม่ค่อยสนใจ ความต้องการของผู้อื่น กล้าแสดงออก กล้าทำเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ
             แบบที่ 2   ฉันรู้เธออยากได้อะไร และฉันเลือกได้ว่าฉันจะทำอะไร (Assertive) ยอมรับในสิทธิและความต้องการของผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิและตอบสนองความต้องการของตัวเอง
             แบบที่ 3   สำหรับฉันอะไรก็ได้ (Passive) มักคล้อยตามผู้อื่น ไม่ค่อยกล้าแสดงความต้องการและ ความรู้สึกของตัวเองโดยเฉพาะเรื่องที่ต้องขัดใจผู้อื่น ปฏิเสธไม่เป็น
-   การเป็นตัวของตัวเองเริ่มต้นที่
           1. ซื่อสัตย์ต่อความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ถามตัวเองว่าในเหตุการณ์นี้เรารู้สึกอย่างไรอยากทำอย่างไร
           2.  ตระหนักว่าความรู้สึกน้อยใจ โกรธ รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของเรามากกว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้อื่น  เพราะอันที่จริงเราเลือกการตอบสนองทางจิตใจของเราต่อเงื่อนไขต่างๆ ได้มากกว่าการไปบังคับควบคุมสิ่งต่างๆ หรือบุคคลอื่น เรามักลืมไปว่าเราเองเป็นผู้เลือกที่จะทำให้ความโกรธ ความเสียใจเกิดขึ้นภายในใจ และเรามักคิดกล่าวโทษคนอื่นว่าเป็นผู้ก่อเหตุอยู่เสมอ แทนที่จะมองเห็นว่าตัวเองต่างหากที่เลือกเป็นอย่างนี้ ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนแปลงแบบแผนการเลือกตอบสนองของตัวเองมากกว่าการไปพยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่น
                   3.  เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวางแผนว่าเราจะบอกยืนยันความต้องการของเราอย่างไร และลงมือทำ
                   4.  คาดและเตรียมใจไว้ล่วงหน้าถึงปฏิกิริยาโต้ตอบ เราไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ด้วยคำพูดประโยคเดียว และการทำให้ผู้อื่นยอมรับก็เช่นเดียวกัน การยอมถอยกลับไปเป็นคนเดิมย่อม
ง่ายกว่าแต่นั่นก็หมายความว่าเราต้องรับบท ยอมทน คอยเก็บงำความรู้สึกผิดหวัง ความไม่ พอใจเอาไว้โดยลำพัง
    -   การบอกยืนยันความต้องการของเราให้ใช้การบอกเล่าถึงตัวเองด้วยประโยคที่ขึ้นต้นด้วย    ฉันรู้สึก... ไม่ควรใช้รูปประโยคต่อว่า เธอทำให้ฉัน... เพราะจะนำไปสู่การโต้เถียง

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ดำเนินกิจกรรม
        ผู้เรียนอาจพาดพิงถึงพฤติกรรมของเพื่อนในห้อง นำมาล้อเล่นในระหว่างพูดคุยในกลุ่มย่อย ผู้ดำเนินกิจกรรมควรชี้ว่า แต่ละคนถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน แต่กิจกรรมวันนี้จะช่วยให้เรารู้จักว่าเราควรจะติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ อย่างไรให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับอาวุโส ผู้เรียนอาจมีประเด็นข้องใจว่าใช้กับเพื่อนได้แต่ไม่แน่ใจในการใช้กับผู้ใหญ่ ผู้ดำเนินกิจกรรมควรชี้ว่าเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ ผู้ใหญ่มักทำด้วยความปรารถนาดีและต้องการปกป้องอันตราย จึงต้องสวมบทบาทการเป็นผู้บอกให้เด็กทำตามโดยไม่โต้แย้ง แต่การชี้แจงด้วยท่าทีนุ่มนวล เข้าใจความตั้งใจดีของผู้ใหญ่ก็จะช่วยให้เกิดการรับฟังได้

การวัดและประเมินผล
      สังเกตการณ์มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม และอภิปรายแลกเปลี่ยน

คำถามท้ายบท (ความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณธรรมพื้นฐานของนักเรียน)

 -  บอกถึงความสามัคคี การทำงานกลุ่มร่วมกันต้องอาศัยความสามัคคี รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนในกลุ่ม ทำให้เป็นผู้มีเหตุผล ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์
 -  บอกถึงความสุภาพ วัฒนธรรมไทยจะเน้นความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่น เป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
 -  แสดงถึงความมีน้ำใจ คือรู้จักการเป็นผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละ เห็นอกเห็นใจและเห็นคุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์และผู้ที่มีความเดือดร้อน
-  บอกสิ่งที่นักเรียนต้องการปรับปรุงตนเอง เพื่อให้รู้สึกมั่นใจในตนเองมากขึ้นและพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนได้ดีขึ้น

1 ความคิดเห็น: